บันทึกล่ามญี่ปุ่น

May 1, 2007

ห้างหุ้นส่วนบริษัท

     ภาษาญี่ปุ่นเรียกห้างหุ้นส่วน (Partnership) และบริษัท (Company) ว่า 会社
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (民商法典) ของไทยแบ่งประเภทห้างหุ้นส่วนบริษัทไว้ดังต่อไปนี้
 
1.
ห้างหุ้นส่วนสามัญ (合名会社 หรือ General partnership
     ห้างหุ้นส่วนสามัญ ประกอบด้วยหุ้นส่วน (社員 ในภาษากฎหมาย หมายถึงหุ้นส่วน ต่างจาก 従業員 ที่หมายถึงพนักงาน) มาลงทุนร่วมกัน
     หุ้นส่วนทุกคนเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด (無限責任社員) กล่าวคือ ถ้าห้างหุ้นส่วนสามัญเป็นหนี้ หุ้นส่วนทุกคนต้องร่วมกันชำระหนี้ดังกล่าวจนครบไม่ว่าจะมีจำนวนเท่าใด 
     ห้างหุ้นส่วนสามัญจะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล (法人登記) หรือไม่ก็ได้ ห้างหุ้นส่วนสามัญจึงมี 2 ประเภทดังต่อไปนี้ 
     (1)
ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ห้างแบบนี้ไม่มีคำญี่ปุ่นที่เทียบเท่าตรงๆ ถ้าต้องแปลให้ใช้คำว่า 非法人合名会社 
     (2)
ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล คือ ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ตรงกับ 合名会社 ในภาษาญี่ปุ่น ถ้าต้องการเน้นให้แตกต่างจากข้อ (1) ให้ใช้คำว่า 合名会社法人
 
2.
ห้างหุ้นส่วนจำกัด (合資会社 หรือ Limited partnership
     ห้างหุ้นส่วนจำกัดประกอบด้วยหุ้นส่วน 2 ประเภท คือ 
     (1)
หุ้นส่วนจำกัดความรับผิด (有限責任社員) คือ หุ้นส่วนที่รับผิดเพียงจำนวนเงินที่ตนรับว่าจะลงทุน (出資) ในห้างหุ้นส่วนเท่านั้น 
     (2)
หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด (無限責任社員) มีความหมายเหมือนกับหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนสามัญ 
     ผู้รับผิดชอบการบริหารงานของห้างหุ้นส่วนทั้งสองข้างต้น เรียกว่า หุ้นส่วนผู้จัดการ (業務執行社員 หรือ Managing partner) หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้น
     การลงมติ (議決) ในการบริหารห้างหุ้นส่วนทั้งสองประเภท จะใช้วิธีเดียวกับสหกรณ์ (組合) คือ หุ้นส่วนหนึ่งคนมีหนึ่งเสียง 
 
     กฎหมายญี่ปุ่นที่ประกาศใหม่เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2548 ได้กำหนดรูปแบบธุรกิจแบบใหม่ เรียกว่า 合同会社 (Limited Liability Company หรือ LLC) ซึ่งไม่มีรูปแบบธุรกิจที่เทียบเท่าในกฎหมายไทย ถ้าแปลเป็นไทยน่าจะแปลได้ว่า บริษัทจำกัดความรับผิด 
     อย่าสับสน 合同会社 กับ 有限責任事業組合 (Limited Liability Partnership หรือ LLP) หรือสหกรณ์จำกัดความรับผิด ซึ่งไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล การเรียกเก็บภาษีจะเรียกเก็บโดยตรงจากสมาชิกสหกรณ์
กฎหมายญี่ปุ่นที่ประกาศใหม่ข้างต้นยังกำหนดให้ยกเลิกรูปแบบธุรกิจที่เรียกว่า 有限会社 แต่ ณ สิ้นปี 2548 ยังไม่ชัดเจนว่าจะเริ่มบังคับใช้เมื่อใด 有限会社 ไม่มีรูปแบบธุรกิจที่เทียบเท่าในกฎหมายไทย ถ้าต้องแปลอาจใช้คำว่า บริษัทจำกัดขนาดเล็ก 
     有限会社 มีคำแปลเป็นภาษาจีนว่า 有限公司 (อู่หังกงสี) คำนี้เรามักพบบนป้ายชื่อร้านในเยาวราช ซึ่งใช้ในความหมายว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด แต่ที่จริง 有限会社 ในภาษาญี่ปุ่นไม่ใช่ห้างหุ้นส่วนจำกัด เพราะหุ้นส่วนทุกคนของ 有限会社 เป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิด ไม่มีหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด รูปแบบธุรกิจของญี่ปุ่นที่เทียบเท่ากับห้างหุ้นส่วนจำกัดคือ 合資会社 ตามที่อธิบายไว้ข้างต้น
 
3.
บริษัทจำกัด (株式会社 หรือ Corporation
     บริษัทจำกัดประกอบด้วยผู้ลงทุน (出資者) ซึ่งทุกคนเป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิด เมื่อผู้ลงทุนชำระเงินลงทุนให้แก่บริษัท ผู้ลงทุนจะได้รับหุ้น (株式 หรือ ) เป็นการตอบแทน จึงเรียกว่า ผู้ถือหุ้น (株主 หรือ 持株主) การลงมติในการประชุมผู้ถือหุ้น (株主総会) ผู้ถือหุ้นแต่ละคนจะมีเสียงเท่าจำนวนหุ้นที่ตนถือ บริษัทจำกัดที่ระดมทุนด้วยการขายหุ้นให้บุคคลทั่วไปมาซื้อได้ในตลาดหลักทรัพย์หรือตลาดหุ้น (株式市場) เรียกว่า บริษัทมหาชน (上場会社 หรือ Public company)

Leave a Comment »

No comments yet.

RSS feed for comments on this post. TrackBack URI

Leave a comment

Create a free website or blog at WordPress.com.